ธาลัสซีเมีย ( Thalassemia)

 หน้าแรก
» ความรู้สุขภาพและบทความแพทย์ » ธาลัสซีเมีย ( Thalassemia) แบ่งปันไปยัง facebook

ธาลัสซีเมีย ( Thalassemia)

     โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคเลือดจางชนิดหนึ่งที่เกิดจากเม็ดเลือดแดงผิดปกติ แตกง่าย เป็นได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย ถ่ายทอดจากพ่อและแม่ทางพันธุกรรม พบได้ทั่วโลก ในประเทศไทยพบมาก ผู้ที่มียีนแฝง ( พาหะ ) คือบุคคลที่มีลักษณะและสุขภาพดีเหมือนคนทั่วไป แต่สามารถถ่ายทอดโรคนี้ต่อให้ลูกได้ ผู้ที่มียีนแฝงในประเทศไทยมีประมาณ ร้อยละ 40 ของประชากร ดังนั้นคนที่มีญาติ พี่น้อง เป็นโรคนี้ก็มีโอกาสที่จะมียีนแฝง  

    ผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย จะมีอาการซีด ตกขาวสีเลือง ตับโต ม้ามโต ใบหน้าจะเปลี่ยน จมูกแบน กะโหลกศีรษะหนา โหนกแก้มสูงและขากรรไกรกว้างใหญ่ ฟันบนยื่น กระดูกเปราะหักง่าย ผิวหนังคล้ำ ร่างกายเติบโตช้ากว่าคนปกติ ในประเทศไทยมีผู้เป็นโรคธาลัสซีเมียประมาณร้อยละ 1

     โรคธาลัสซีเมีย แบ่งได้หลายชนิด บางชนิดรุนแรงมากทำให้เสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์หรือหลังคลอดไม่เกิน 1 วัน บางชนิดทำให้ผู้ป่วยเลือดจางมาก ต้องได้รับเลือดประจำ บางชนิดแทบไม่มีอาการผิดปกติเพียงแต่เลือดจางเล็กน้อย

 

โอกาสเสี่ยงของการมีลูกเป็นโรคธาลัสซีเมีย

      1.
ถ้าทั้งพ่อและแม่มียีนแฝง  ในการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง โอกาสที่ลูกจะเป็นโรคร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4 โอกาสที่ลูกจะมียีนแฝง เท่ากับร้อยละ 50 หรือ 2  ใน 4  โอกาสที่ลูกจะไม่มียีนแฝงเท่ากับร้อยละ 25 หรือ 1 ใน 4

      2.ถ้าพ่อหรือแม่มียีนแฝงเพียงคนเดียว
  ในการตั้งครรภ์แต่ละครั้งไม่มีโอกาสที่ลูกจะเป็นโรค โอกาสที่ลูกจะมียีนแฝงร้อยละ 50 หรือ 2 ใน 4 โอกาสที่จะมีลูกปกติเท่ากับร้อยละ 50 หรือ 2 ใน 4
   
     3.ถ้าพ่อหรือแม่เป็นโรคธาลัสซีเมียเพียงคนดียวและอีกฝ่ายมียีนปกติ
     ในการตั้งครรภ์แต่ละครั้งไม่มีโอกาสที่ลูกจะเป็นโรค, ลูกทุกคนจะมียีนแฝงหรือเท่ากับร้อยละ 100
  
    4.ถ้าพ่อหรือแม่เป็นโรคเพียงคนเดียวและอีกฝ่ายมียีนแฝง
    ในการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง โอกาสที่ลูกจะเป็นโรคธาลัสซีเมียร้อยละ 50 หรือ 2 ใน 4โอกาสที่ลูกจะมียีนแฝงเท่ากับร้อยละ 50 หรือ 2 ใน 4

 

คำแนะนำสำหรับผู้ที่เป็นธาลัสซีเมีย

 การรักษาประกอบด้วย

  1. รับประทานวิตามิน โฟลิค วันละเม็ด
  2. ได้รับเลือดเมื่อซีดมาก
  3. ตัดม้ามเมื่อต้องรับเลือดบ่อย และม้ามโตมาก
  4. ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ซีดมาก ต้องรับเลือดบ่อย จะมีภาวะเหล็กเกิน ควรฉีดยาขับเหล็ก เช่น เดสเฟร์ริอ๊อกซามีนหยดเข้าใต้ผิวหนังวันละ 10 ชั่วโมง

        แม้ว่าโรคนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่ผู้ป่วยไม่ควรตื่นตกใจเพราะบางรายอาจมีอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยควรรับประทานผักสด ไข่ นม  หรือน้ำนมถั่วเหลืองมากๆ ดื่มน้ำชาหลังอาหารเพื่อลดการดูดซึมธาตุเหล็ก ควรตรวจฟันทุก 6 เดือนเนื่องจากฟันผุง่าย หลีกเลี่ยงการทำงานหนักหรือการเล่นรุนแรง งดการดื่มสุรา ถ้ามีอาการปวดท้องที่ชายโครงขวารุนแรง มีไข้และเหลืองมาก สงสัยว่าถุงน้ำดีอักเสบ ควรไปพบแพทย์อาจติดเชื้อรุนแรงได้ง่าย เมื่อมีไข้สูงควรเช็ดตัว  กินยาลดไข้ ผู้ที่ตัดม้ามและมีไข้ ควรกินยาปฏิชีวนะทันที แล้วไปพบแพทย์ด่วน ถ้าผู้ป่วยอายุน้อยและไม่มีโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงโดยเฉพาะที่ตับและหัวใจ โดยมีพี่หรือน้อง คนในครอบครัว ที่มีเม็ดเลือดขาวที่สามารถเข้ากันได้ก็อาจพิจารณาปลูกถ่ายไขกระดูก ทำให้โรคหายได้

 คำแนะนำสำหรับผู้ที่มียีนแฝง
     ผู้ที่มียีนแฝงสามารถถ่ายทอดโรคนี้ไปสู่ลูกได้ จึงควรวางแผนก่อนมีลูกเพื่อหลีกเลี่ยงการมีลูกเป็นโรคธาลัสซีเมีย    ควรพาคู่สมรสไปตรวจเลือดก่อนมีลูก ถ้าคู่สามีภรรยามียีนแฝงทั้งสองคนเมื่อตั้งครรภ์ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยทารกก่อนคลอดผู้ที่มียีนแฝงควรแนะนำให้ญาติ พี่น้อง ไปตรวจเลือดด้วย

 คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไป

   - ผู้ที่มียีนแฝงของโรคธาลัสซีเมีย จะมีร่างกายแข็งแรงและสุขภาพดีเหมือนบุคคลทั่วไป

   - อย่ารังเกียจผู้ที่เป็นโรค ผู้ป่วยเหล่านี้นอกจากเพลียเพราะการซีดแล้ว สติปัญญาดีเป็นปกติ

ดังนั้นการป้องกันการมีลูกเป็นโรคธาลัสซีเมียควรไปตรวจเลือดว่าไม่ได้มียีนแฝงโรคนี้ก่อนที่ท่านจะวางแผนการแต่งงานหรือวางแผนการมีบุตรครั้งต่อไป

 บุคคลที่มียีนแฝงของโรคนี้สามารถรู้ได้โดย

  1. ประวัติครอบครัว
  2. ถ้าคู่สามี-ภรรยามีลูกเป็นโรคนี้แสดงว่าทั้งสองคนมียีนแฝง
  3. ถ้าผู้ป่วยที่เป็นโรค และแต่งงานกับคนปกติที่ไม่มียีนแฝง เมื่อตั้งครรภ์ลูกทุกคนจะมียีนแฝง
  4. จากการตรวจเลือดด้วยวิธีพิเศษ

 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาและโฆษณาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด
คุณสามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัวและข้อกำหนดในการให้บริการ