ยารักษามะเร็งในปัจจุบัน (Systemic therapy)

 หน้าแรก
» ความรู้สุขภาพและบทความแพทย์ » ยารักษามะเร็งในปัจจุบัน (Systemic therapy) แบ่งปันไปยัง facebook

ยารักษามะเร็งในปัจจุบัน (Systemic therapy)

      ในปัจจุบัน ด้วยวิวัฒนาการและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปมาก เมื่อเทียบกับไม่กี่สิบปีที่แล้ว ทำให้มีความรู้ซึ่งนำมาสู่การพัฒนาการรักษาโรคต่างๆอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงโรคมะเร็งด้วย           
    

การใช้ยาเพื่อรักษาโรคมะเร็งนั้น แบ่งตามวัตถุประสงค์ดังนี้

  1. การรักษาก่อนผ่าตัด (Neoadjuvant treatment) เพื่อที่จะช่วยให้การผ่าตัดง่ายยิ่งขึ้น ทำให้จากผ่าตัดไม่ได้เป็นผ่าตัดได้ จากผ่าตัดมาก เป็นผ่าตัดน้อย
  2. การรักษาเสริม (Adjuvant treatment) แม้ว่าการผ่าตัด จะเป็นการเอามะเร็งเกือบทั้งหมดออกไปจากร่างกาย แต่ยังมีมะเร็งบางส่วนที่เล็กมาก และอยู่ในระบบเลือดและน้ำเหลือง ทำให้มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นโรคซ้ำได้ การรักษาเสริม จึงช่วยลดโอกาสที่โรคจะกลับมาใหม่ได้ และเพิ่มโอกาสหายขาดของมะเร็ง
  3. การรักษาร่วมกันกับการฉายแสง (Concurrent chemoradiation) ในผู้ป่วยบางรายที่ไม่มีการแพร่กระจายของตัวโรคไปทั่วร่างกาย แต่ตัวโรคเองก็ผ่าตัดโดยความยากลำบาก หรือโอกาสสำเร็จไม่สูง จะพิจารณาให้การรักษาด้วยการฉายแสง และให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการฉายแสง
  4. การรักษาในผู้ป่วยที่มีการแพร่กระจายของตัวโรค (Palliative aim) มีจุดประสงค์เพื่อ ลดอาการ ให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และเพิ่มระยะเวลาการมีชีวิตอยู่ของผู้ป่วย

ในปัจจุบัน มียาอะไรบ้าง

  1. ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)

เป็นยาที่อยู่คู่กันกับโรคมะเร็งมานาน โดยตัวยาจะเป็นพิษต่อเซลล์ ทั้งในเนื้อร้าย และในอวัยวะต่างๆของร่างกายเราเอง โดยมีข้อดีคือใช้ได้หลากหลายที่สุด มีมานาน จึงมั่นใจในความปลอดภัยได้ เนื่องจากรู้จักผลข้างเคียงมาอย่างดี แต่มีข้อเสียคือ มีผลข้างเคียงมาก

  1. ยาต้านฮอร์โมน (Hormonal Treatment)

นับเป็นยามุ่งเป้าแบบหนึ่ง ซึ่งผลข้างเคียงน้อยที่สุด สามารถใช้ได้ในมะเร็งบางชนิดที่ถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมน เช่น มะเร็งเต้านม ที่มีตัวรับฮอร์โมน (hormone receptor positive breast cancer) หรือมะเร็งต่อมลูกหมากในช่วงแรกๆ

  1. ยามุ่งเป้า (Targeted therapy)

ในปัจจุบัน มีการค้นพบกลไกในการเกิดมะเร็งมากขึ้น จึงได้มีการพัฒนายา ซึ่งจำเพาะต่อกลไกในการเกิดต่างกันในมะเร็งต่างๆ เพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของยา และลดผลข้างเคียง อันเกิดมาจากยา


ซึ่งยามุ่งเป้านี้เอง มีทั้งแบบกินและแบบฉีด ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละชนิดของมะเร็ง และในมะเร็งชนิดเดียวกัน ในผู้ป่วยคนละคน อาจมีเป้าไม่เหมือนกันด้วย

 

การตรวจสารพันธุกรรม (whole genome sequencing) เพื่อหาการกลายพันธุ์และความผิดปกติในปัจจุบัน ราคาถูกลงมาก และยังใช้เวลาลดลงอย่างมาก จึงกลายเป็นกระแสที่จะมีการตรวจมากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี พบว่าแม้มีการกลายพันธุ์หรือมีความผิดปกติ แต่บ่อยครั้ง ความผิดปกตินั้น ก็ไม่ใช่สาเหตุของการเกิดโรค จึงยังไม่สามารถที่จะกล่าวได้ว่าจำเป็นจะต้องทำในผู้ป่วยทุกราย

  1. สารเภสัชรังสี (Therapeutic Radiopharmaceuticals) แค่ฟังชื่อ แม้แต่หมอบางคน ได้ยินแล้วก็ยังคงมึนๆ การใช้สารเภสัชรังสีนั้น จะเป็นการรักษาโดยแพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ โดยเป็นสารกัมมันตภาพรังสี ที่มีความจำเพาะต่ออวัยวะเฉพาะจุด เข้าไปทำลายเนื้อร้ายของอวัยวะนั้นๆ เช่น Iodine-131 ในมะเร็งไทรอยด์, Radium-223 ในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากลามมากระดูก หรือ Yttrium-90 ในมะเร็งตับและมะเร็งลำไส้ที่ลามมาตับ เป็นต้น
  1. ยารักษาด้วยภูมิคุ้มกัน (Immunotherapy)

นับเป็นความหวังล่าสุดของผู้ป่วยมะเร็ง ในการพัฒนายาใหม่ขึ้นมา เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูง และผลข้างเคียงต่ำ เพราะเป็นการบอกภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเอง ให้ไปทำลายมะเร็ง ซึ่งในปัจจุบัน ยาที่มีหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอ และได้รับการอนุมัติให้ใช้ได้ทั่วโลกแล้ว ได้แก่

  • Anti PDL-1:
    • Nivolumabซึ่งได้รับการอนุมัติใน มะเร็งเม็ดสีผิวหนัง (Malignant Melanoma), มะเร็งปอด (Non-Small Cell Lung Cancer), มะเร็งไต (Renal Cell Carcinoma), มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Hodgkin´s Lymphoma), มะเร็งของศีรษะและลำคอ (Head and Neck Cancer), มะเร็งทางเดินปัสสาวะ (Urothelial Carcinoma), มะเร็งลำไส้ใหญ่ บางราย (Colorectal Cancer)
    • Pembrolizumab ซึ่งได้รับการอนุมัติใน มะเร็งเม็ดสีผิวหนัง (Malignant Melanoma), มะเร็งปอด (Non-Small Cell Lung Cancer), มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Hodgkin´s Lymphoma), มะเร็งของศีรษะและลำคอ (Head and Neck Cancer), มะเร็งทางเดินปัสสาวะ (Urothelial Carcinoma)
  • Anti PD-1:
    • Atezolizumabซึ่งได้รับการอนุมัติใน มะเร็งปอด (Non-Small Cell Lung Cancer), มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

      จากข้อมูลของ องค์กร free to breathe มีภาพแสดงให้เห็นถึงหลักการการทำงานของยาแบบเข้าใจง่ายๆ

เม็ดเลือดขาวมีหน้าที่ทำลายสิ่ง แปลกปลอมในร่างกาย


 

แต่บางครั้ง เซลล์มะเร็งจะสร้างโปรตีนที่ทำให้เม็ดเลือดขาวมองไม่เห็น เปรียบเสมือนมีผ้ามาปิดตา

   

ยา Immunotherapy จะทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เม็ดเลือดขาวถูกปิดตาได้ จึงสามารถทำลายเซลล์มะเร็งได้ตามปกติ

 แต่อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่ายากลุ่มนี้ ยังไม่สามารถใช้ได้ในมะเร็งทุกชนิด และมะเร็งชนิดที่ได้รับการอนุมัติแล้วก็ยังต้องมีการตรวจชิ้นเนื้อเพิ่มเติม ว่ามีตัวรับที่จะสามารถใช้ยาดังกล่าวได้

 โดยสรุป การรักษาทั้งหมดนี้ ควรที่จะใช้ยาที่มีหลักฐานการวิจัยแล้วว่า ใช้ได้ผลจริง และมีผลเสียต่อตัวผู้ป่วยมากกว่าประโยชน์ที่ได้ มิใช่มีเพียงคำพูดที่พูดต่อๆกันมา หรือเป็นคำโฆษณา เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อตัวผู้ป่วยเอง

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาและโฆษณาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด
คุณสามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัวและข้อกำหนดในการให้บริการ