ทิศทางการรักษามะเร็งในปัจจุบัน

 หน้าแรก
» ความรู้สุขภาพและบทความแพทย์ » ทิศทางการรักษามะเร็งในปัจจุบัน แบ่งปันไปยัง facebook

ทิศทางการรักษามะเร็งในปัจจุบัน

       เมื่อพูดถึงโรค “มะเร็ง” เชื่อว่าร้อยทั้งร้อยของทั้งผู้ป่วยและญาติที่ได้ยิน ย่อมมีความกังวล ไม่มากก็น้อย ทั้งเรื่องของความรุนแรงของตัวโรค อาการ รวมไปถึงการรักษา
       สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งนั้น ในปัจจุบันพบว่าเกิดจากความผิดปกติของสารพันธุกรรมซึ่งควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์ ทำให้มีการแบ่งตัวที่ผิดปกติ จนเกิดเป็นเนื้อร้ายในที่สุด โดยมีกลไกย่อยๆมากมายและมีมะเร็งบางชนิดเท่านั้น ที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์สู่รุ่นลูกหลาน

       และจากการค้นพบกลไกย่อยๆนี้เอง ทำให้มีการค้นพบยาที่ใช้ในการรักษามะเร็งอย่างต่อเนื่อง  เพื่อที่จะให้ได้ผลลัพธ์ของการรักษาที่ดีที่สุด การรักษามะเร็งจะมีการร่วมมือของทีมสหสาขาวิชา ร่วมกันให้ความเห็นด้านต่างๆ และนำมาสู่ทางเลือกที่ดีที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติมาร่วมกันตัดสินใจในการรักษาเพื่อให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางการรักษาและเป็นส่วนหนึ่งของทีมรักษา


ทีมรักษา(Multidisciplinary team)นั้น ประกอบด้วย

  1. แพทย์ทั่วไป ซึ่งเป็นปราการด่านหน้าที่ได้ประวัติและการตรวจร่างกาย ซึ่งนำไปสู่การสืบค้นที่ทำให้สงสัยว่าน่าจะมีเนื้องอก
  2. รังสีแพทย์ (Diagnostic Radiologist) ที่จะช่วยแปลผล จากภาพถ่ายรังสีต่างๆ ตั้งแต่ plain X-ray, CT scan (เอกซเรย์คอมพิวเตอร์), MRI scan (เอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า) เพื่อนำมาสู่การวินิจฉัยเรื่องก้อนที่แม่นยำยิ่งขึ้น รวมถึงในขั้นตอนการติดตามผลการรักษา
  3. อายุรแพทย์ ระบบทางเดินอาหาร, อายุรแพทย์ระบบทางเดินหายใจ, ศัลยแพทย์ ที่จะทำการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการวินิจฉัยเนื้องอก ไม่ว่าจะจากการส่องกล้อง หรือการผ่าตัด
  4. รังสีแพทย์ร่วมรักษา (Intervention Radiologist) ซึ่งจะมีบทบาทอย่างมาก หากการตัดชิ้นเนื้อทำได้โดยยาก และยังสามารถทำให้การตัดชิ้นเนื้อมีความรุนแรงลดไปกว่าการผ่าตัดอย่างมาก อีกทั้งยังมีบทบาทในการรักษามะเร็งหลายชนิด เช่นการใส่สายสวนหลอดเลือดเพื่อรักษามะเร็งตับ และช่วยหยุดเลือดที่ออกจากก้อนเนื้อ
  5. พยาธิแพทย์(Pathologist) มีความสำคัญอย่างมากในการตรวจวินิจฉัยชิ้นเนื้อว่าเป็นเนื้อร้ายหรือไม่ และเป็นเนื้อร้ายชนิดใด เพื่อการเลือกใช้ยาในการรักษาได้เหมาะสมที่สุด
  6. ศัลยแพทย์ และ แพทย์หูคอจมูก มีบทบาทอย่างมากหากเนื้อร้ายนั้นสามารถผ่าตัดได้หมด จะทำให้มีโอกาสหายขาดได้จริงๆ รวมถึงเป็นผู้ที่ตัดชิ้นเนื้อมาให้พยาธิแพทย์วินิจฉัยได้ด้วย
  7. อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา (Medical Oncologist) จะมีบทบาทในการให้ยา เคมีบำบัด ยามุ่งเป้าต่างๆ รวมไปถึงการรักษาด้วยภูมิคุ้มกัน (Immunotherapy) เพื่อช่วยให้การผ่าตัดง่ายขึ้น หรือเป็นการรักษาเสริมหลังผ่าตัด รวมไปถึงการรักษาในผู้ป่วยระยะลุกลาม
  8. รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาแพทย์ (Radiation oncologist) มีบทบาทด้านการให้การรักษาด้วยรังสี หรือที่รู้จักในนามของการ ฉายแสง นั่นเอง
  9. แพทย์เวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear Medicine) มีบทบาทในการวินิจฉัย เช่น การตรวจกระดูก (Bone scan), PET scan, Nuclear scan อื่นๆ และในการรักษา เช่นการรักษามะเร็งไทรอยด์ มะเร็งต่อมลูกหมากที่ลามไปกระดูก เป็นต้น
  10. พยาบาลเคมีบำบัด เป็นผู้ที่ได้รับการฝึกฝนมาเพื่อการให้ยาเคมีบำบัด เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วย
  11. จิตแพทย์ และนักจิตวิทยา ที่จะช่วยลดความกังวลของผู้ป่วยและญาติ รวมถึงปัญหาที่เกิดบ่อยๆคืออาการนอนไม่หลับ
  12. แพทย์โภชนศาสตร์ และ นักโภชนบำบัด จะช่วยให้ไม่มีภาวะขาดสารอาหาร และทำให้การรักษา เป็นไปโดยราบรื่นยิ่งขึ้น
  13. นักกายภาพบำบัด จะช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายผู้ป่วยให้แข็งแรงมากขึ้น
  14. ทีมรักษาประคับประคอง (Palliative care team) และ แพทย์ระงับปวด (Pain Specialist) จะช่วยให้ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรับการรักษาเฉพาะต่อโรคได้แล้ว สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้น ไม่เจ็บ ไม่ปวด ไม่ทรมาน

 

มะเร็ง รักษาหายได้ จริงหรือ

            หากเราสามารถค้นพบมะเร็งตั้งแต่ยังอยู่ในระยะเริ่มแรก โอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้ก็มีสูงทีเดียว จึงควารมีการคัดกรองตั้งแต่ยังไม่มีอาการ และควรหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้เกิดมะเร็งได้

 

วิธีรักษามะเร็ง ผ่าตัด ให้ยา ฉายแสง อะไรที่เหมาะสมในแต่ละคน

การรักษามะเร็งสามารถแบ่งได้คร่าวๆดังนี้

1. การรักษาที่จำเพาะกับตัวโรค (Specific treatment)

     1.1 การรักษาเฉพาะจุด (Local Treatment)

           ใช่สำหรับตัวโรคน้อยๆ ที่โรคอยู่เฉพาะจุด หรือมีไม่กี่จุดที่สามารถตามไปจัดการได้หมด หรือเพื่อลดอาการเช่นภาวะปวด ที่มีอยู่เฉพาะจุด ซึ่งวิธีที่จะทำได้แก่ การผ่าตัด การฉายแสง การจี้ก้อนด้วยความร้อน ความเย็น ไฟฟ้า คลื่นวิทยุ แอลกอฮอล์ รวมถึงการใส่สายสวนเส้นเลือดแดงเพื่อไปอุดเส้นเลือดและให้ยาเคมีบำบัดเฉพาะจุด (TACE, Transarterial chemoembolization) ในมะเร็งตับ (hepatocellular carcinoma) และการให้ยาเคมีโดยตรงในช่องท้องในผู้ป่วย มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลําไส้ใหญ่มะเร็งรังไข่บางรายที่เหมาะสม (HIPEC, Hyperthermic Intraperitoneal Chemotherapy)

     1.2 การรักษาทั้งร่างกาย (Systemic treatment)

           เป็นการรักษา โดยการใช้ ยาต้านฮอร์โมนในมะเร็งเต้านมบางราย และมะเร็งต่อมลูกหมาก ยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า ยา immunotherapy โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยให้การผ่าตัดมีโอกาสสำเร็จมากขึ้น ช่วยรักษาเสริมหลังจากการผ่าตัด และช่วยลดอาการในผู้ป่วยระยะลุกลาม

2. การรักษาอาการอันเกิดจากโรค (Symptomatic treatment)

        เป็นการให้ยา เพื่อช่วยลดอาการต่างๆ อันได้แก่ ภาวะปวด เหนื่อย เป็นต้น รวมถึงการดูแลด้านอาหารการกิน และสภาพจิตใจ ซึ่งจะทำไปควบคู่กันกับการรักษาที่จำเพาะกับตัวโรค

       ซึ่งการรักษาเหล่านี้ ย่อมมีทั้งผลดีและผลเสียต่างกัน โดยข้อมูลต่างๆทางทีมรักษาจะได้มีการอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติฟัง เพื่อประกอบการตัดสินใจที่จะเข้าได้กับตัวผู้ป่วยและครอบครัวที่สุด เพราะร่างกายเป็นสิ่งมหัศจรรรย์ที่ต่างจากเครื่องจักร การตอบสนองของตัวโรค และผลข้างเคียงในแต่ละคนย่อมต่างกัน รวมถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่นการเป็นอยู่ ผู้ดูแล ในแต่ละครอบครัวก็ไม่เหมือนกัน ผู้ป่วยและครอบครัวจึงควรจะมาเป็นส่วนหนึ่งของทีมรักษา เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในแต่ละคน



เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาและโฆษณาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด
คุณสามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัวและข้อกำหนดในการให้บริการ