ต้อหิน Glaucoma

 หน้าแรก
» ความรู้สุขภาพและบทความแพทย์ » ต้อหิน Glaucoma แบ่งปันไปยัง facebook

มารู้จัก โรคต้อหิน

     ต้อหิน เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะตาบอดอันดับ 2 ของประเทศไทย รองจากต้อกระจก ปัจจุบันการรักษาต้อหินที่ดีที่สุด มุ่งเพื่อรักษาการมองเห็นที่มีอยู่ให้คงอยู่นานที่สุดตราบเท่าที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งแตกต่างจากต้อกระจกที่สามารถผ่าตัดรักษาให้การมองเห็นดีขึ้นได้ ดังนั้น การที่เรารู้ว่าเราอยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคต้อหินหรือไม่ และมาตรวจคัดกรองต้อหิน เพื่อรับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นในกรณีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคต้อหิน จึงมีส่วนสำคัญมากๆในการคงการมองเห็นในระดับที่ดีและมีคุณภาพให้อยู่นานๆ ตราบเท่าที่มีชีวิตอยู่

       1.ใครบ้างที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคต้อหิน
       2. อายุมากกว่า 40 ปี
       3. มีญาติสายตรงเป็นต้อหิน
       4. ความดันลูกตาสูง
       5. สายตาสั้น หรือยาวมากๆ
       6. เคยมีอุบัติเหตุที่ดวงตามาก่อน เช่น โดนชก ลูกบอลอัดตา ยางรัดตา หรือ อุบัติเหตุจราจรที่มีใบหน้าบริเวณเบ้าตาโดนกระแทก เป็นต้น
       7. ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์
       8. อื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดัน

ต้อหินคืออะไร

 ต้อหิน เป็นกลุ่มโรคที่มีความเสื่อมของขั้วประสาทตาอย่างต่อเนื่อง โดยระยะเริ่มต้น จะส่งผลให้การมองเห็นในส่วนของลานสายตาเสียไป คือแคบลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายการมองเห็นในส่วนของความคมชัดของสายตาลดลงจน มองไม่เห็นในที่สุด 

 

รูปที่ 1 แสดงขั้วประสาทตาของผู้ป่วยโรคต้อหินระยะต่างๆ โดยเนื้อประสาทตาบริเวณขอบขั้วประสาทตาบางลงเรื่อยๆ เมื่อระยะโรครุนแรงขึ้น

 

 

รูปที่ 2  แสดงปัจจัยสำคัญที่ทำให้ขั้วประสาทตาเสื่อมคือ ความดันลูกตาสูงเกินกว่าค่าปกติ จนไปกดทับขั้วประสาทตา

ลานสายตาคืออะไร

      ในขณะที่เราจ้องมองไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งด้านหน้า เราจะมองเห็นบริเวณด้านบน ด้านล่าง ด้านซ้ายและด้านขวาของสิ่งๆนั้นด้วย สิ่งนี้เรียกว่าลานสายตา ซึ่งมีส่วนสำคัญไม่แพ้สิ่งที่เรามองไปด้านหน้าและจำเป็นในชีวิตประจำวันของทุกคน หากลานสายตามีปัญหา นอกจากจะทำให้คุณภาพชีวิตและการมองเห็นลดลง ยังก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ เช่น

  1. ขณะเดินขึ้น-ลงบันได อาจทำให้สะดุดล้ม เพราะไม่เห็นพื้นต่างระดับบริเวณด้านบน หรือด้านล่าง
  2. ขณะเดินในที่แคบ อาจเดินชนสิ่งรอบข้าง เพราะการมองเห็นบริเวณด้านข้างลดลง
  3. ขณะเดินข้ามถนนหรือขับรถ อาจเกิดอันตรายจากการมองไม่เห็นรถที่กำลังแล่นมาทางด้านข้าง เป็นต้น

       นอกจากผู้ป่วยแล้ว ครอบครัวของผู้ที่มีปัญหาลานสายตาที่เข้าใจปัญหาดังกล่าว มีส่วนช่วยในการดูแลและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้คนที่คุณรักและห่วงใยได้ โดยดูแลลดความเสี่ยงอุบัติเหตุดังกล่าว เช่น จัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านใหม่ เป็นต้น

       เหตุใดจึงเป็นสาเหตุของการเกิดตาบอดอันดับที่ 2 หรือเป็นเหตุของการเกิดตาบอดถาวรอันดับ 1 ของประเทศไทย

        เพราะคนไข้ต้อหินส่วนมากตาจะมองเห็นชัดดี (ในขณะที่ลานสายตาแคบลงแล้ว) กว่าจะรู้สึกมัว ประสาทตาก็เหลือเพียง 20-30% เท่านั้น

       ดังนั้น การคัดกรองต้นหินโดยเฉพาะคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโรคซึ่งยังเหลือเนื้อประสาทตามาก จะทำให้ได้รับการรักษาชะลอการบางตัวลงของขั้วประสาทตาได้เร็วกว่า จึงลดโอกาสภาวะตาบอดในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ได้

 ชนิดของต้อหิน แบ่งตามสาเหตุมี 2 ชนิด คือ

  1. ต้อหินชนิดปฐมภูมิ เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นเอง นั่นคือการเสื่อมไปตามอายุ ทำให้การมองเห็นค่อยๆ แย่ลงเรื่อยๆ หากเรามีอายุยืนยาวถึง 120 ปี ทุกคนจะเป็นโรคต้อหินกันหมด เพราะเป็นความเสื่อมตามวัยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
  2. ต้อหินชนิดทุติยภูมิ คือ ต้อหินที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น อุบัติเหตุบริเวณรอบดวงตา การใช้ยาสเตียรอยด์ เบาหวานขึ้นจอตา การอักเสบภายในลูกตา เป็นต้น

นอกจากนี้หากแบ่งตามโครงสร้างของดวงตา ยังสามารถแบ่งเป็นต้อหินมุมเปิด และต้อหินมุมปิด

      ตามปกติ ดวงตาของเราจะต้องมีการระบายน้ำเข้าและออก การเป็นต้อหินมุมเปิด เป็นความผิดปกติของทางระบายน้ำในช่องหน้าลูกตา ทำให้น้ำในช่องหน้าลูกตาไม่สามารถระบายออกมาได้ ความดันตาก็จะค่อยๆ สูงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนต้อหินมุมปิด ทางระบายน้ำในช่องหน้าลูกตาปกติดี แต่มีการขัดขวางการระบายน้ำจากสิ่งอื่นๆ ทำให้น้ำระบายออกจากดวงตาไม่ได้ ความดันตาก็เลยสูงขึ้น


รูปที่
3 แสดงการไหลเวียนของน้ำในช่องหน้าลูกตา โดยน้ำในช่องหน้าลูกตาสร้างที่ ciliary body ไหลเวียนตามเส้นลูกศรสีแดงไปกรองออกที่ trabecular meshwork และ Schlemm’s canal

รูปที่ 4 แสดงการกรองน้ำในช่องหน้าลูกตาที่ trabecular meshwork ออกไป Schlemm’s canal หากมีความผิดปรกติอุดกั้นการระบายน้ำที่ trabecular meshwork มากขึ้น ความดันลูกตาจะสูงขึ้น และเป็นสาเหตุให้เกิดต้อหินมุมเปิด

รูปที่ 5 แสดงภาวะที่มีการอุดกั้นการระบายน้ำจากเนื้อม่านตา ทำให้ความดันลูกตาสูงขึ้น และเป็นสาเหตุของต้อหินมุมปิด

 

การตรวจวินิจฉัยต้อหิน (รวมทั้งชนิดและระยะของโรค)

ประกอบด้วย

  1. ตรวจด้วย slit-lamp biomicroscopy
  2. ตรวจวัดความดันลูกตา (IOP) และกรณีที่ต้องการความแม่นยำของค่าความดันลูกตา ตรวจวัดความหนากระจกตา (CCT)
  3. ตรวจมุมตา (gonioscopy)
  4. ตรวจวัดความหนาของเส้นประสาทตาบริเวณขั้วตาและจุดรับภาพ (OCT)
  5. ตรวจลานสายตา (standard automated perimetry, SAP)

การรักษา

        แนวทางการรักษาโรคต้อหิน ขึ้นกับชนิดและระยะของโรค โดยแพทย์จะทำการควบคุมความดันลูกตาให้อยู่ระดับที่สามารถชะลอหรือหยุดการดำเนินโรคได้ ซึ่งมี 3 วิธี คือ

  1. การให้ยา(มีทั้งยาหยอด ยากิน และยาฉีด) แบ่งเป็นกลุ่มที่ลดการสร้างน้ำในช่องหน้าลูกตา และกลุ่มที่เพิ่มการระบายออกของน้ำในช่องหน้าลูกตา การรักษาด้วยยาผู้ป่วยจำเป็นต้องหยอดยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง และติดตามผลการรักษารวมทั้งผลข้างเคียงของยาที่อาจเกิดขึ้นกับแพทย์ตามนัดเป็นระยะ
  2. การทำเลเซอร์ มีหลายชนิด ขึ้นกับชนิดและระยะของโรค
    1. Laser iridotomy (L-PI) สำหรับรักษาต้อหินมุมปิด
    2. Laser iridoplasty or laser gonioplasty (ALPI) สำหรับรักษาต้อหินมุมปิด
    3. Laser trabeculoplasty (ALT, SLT) สำหรับรักษาต้อหินมุมเปิด
    4. Laser cyclophotocoagulation (CPC) กรณีที่รักษาด้วยวิธีอื่นๆแล้วไม่ได้ผล
  3. การผ่าตัด ใช้สำหรับกรณีที่รักษาด้วยยา และ/หรือเลเซอร์แล้วยังได้ผลไม่เพียงพอในการชะลอการดำเนินโรค หรือเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา
    1. การผ่าตัดเปิดมุมตา (goniosynechiaelysis) ในกรณีต้อหินมุมปิดบางชนิด เพื่อเปิดทางระบายน้ำในช่องหน้าลูกตา โดยหลังผ่าตัดคนไข้ส่วนหนึ่งสามารถลดการใช้ยาลดความดันลูกตา และ/หรือสามารถหยุดการดำเนินโรคได้ โดยจะได้ผลดีขึ้น หากผ่าตัดสลายต้อกระจกร่วมด้วย
    2. การผ่าตัดทำทางระบายน้ำ (trabeculectomy)
    3. การผ่าตัดใส่ท่อระบายน้ำในช่องหน้าลูกตา (aqueous shunt surgery) กรณีผ่าตัดด้วยวิธี trabeculectomy แล้วไม่ได้ผล

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาและโฆษณาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด
คุณสามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัวและข้อกำหนดในการให้บริการ