การผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่า คืออะไร?

 หน้าแรก
» ความรู้สุขภาพและบทความแพทย์ » การผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่า คืออะไร? แบ่งปันไปยัง facebook

การผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่า คืออะไร?

     คือการผ่าตัดที่แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดใช้กล้องขนาดเล็กเจาะผ่านผิวหนังและสอดกล้องเข้าไป เพื่อมองสำรวจสภาพความผิดปกติภายในข้อเข่า เพื่อประเมินและทำการรักษาโดยการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ เทคนิคที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อทำการผ่าตัดรักษาโดยผ่านแผลเจาะเล็กๆขนาดน้อยกว่า 1 ซม.

     ด้วยเทคนิคนี้ ผู้ป่วยจะมีแผลผ่าตัดเล็กๆเพียง 2-3 แผล ทำให้อาการปวดแผลภายหลังผ่าตัดลดลงมากเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบดั้งเดิมที่ใช้การเปิดแผลกว้างๆ ผู้ป่วยฟื้นตัวไว เข่ากลับไปใช้งานได้เร็วขึ้น ได้คุณภาพชีวิตคืนมาอย่างรวดเร็ว

 

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่า

1. ผู้ป่วยจะได้รับการซักประวัติ ตรวจร่างกาย

2. ควรแจ้งแพทย์หากมีโรคประจำตัว ประวัติการใช้ยาโดยเฉพาะยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งมีผลต่อการแข็งตัวของเลือดและประวัติแพ้ยา

3. ผู้ป่วยจะต้องงดอาหารและน้ำอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด

4. การผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่าผู้ป่วยจะต้องนอนในโรงพยาบาลหลังการผ่าตัด ประมาณ 1 – 2 วัน แต่ในบางกรณีแพทย์อาจอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้หลังการผ่าตัด โดยไม่ต้องนอนในโรงพยาบาลถ้าเป็นการผ่าตัดที่ไม่ใหญ่มาก

 

เมื่อไหร่ควรจะใช้กล้องผ่าตัดข้อเข่า?

1. เพื่อผ่าตัดเกี่ยวกับหมอนรองเข่า

2. เพื่อผ่าตัดสร้างเส้นเอ็นไขว้หน้าหรือไขว้หลังภายในข้อเข่า

3. เพื่อผ่าตัดรักษากระดูกอ่อนที่แตกอยู่ในข้อเข่า

4. เพื่อตัดชิ้นเนื้อภายในข้อเข่ามาตรวจทางพยาธิวิทยา (Biopsy)

5. เพื่อมองสำรวจภายในข้อเข่าอย่างละเอียดโดยตรง ในบางกรณีที่สงสัยพยาธิสภาพภายในข้อเข่า แต่ไม่สามารถตรวจด้วยวิธีปกติจากภายนอกได้

 

การพักฟื้นหลังผ่าตัด

- ผู้ป่วยควรจะปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์โดยเคร่งครัด

- ผู้ป่วยควรยกขาสูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อลดการบวมให้น้อยที่สุด

- ไม่ควรเดินมากเกินความจำเป็นในช่วงแรกหลังผ่าตัด และควรประคบเย็นรอบๆ เข่าทุก 4 – 6 ชั่วโมง เพื่อลดอาการบวมและปวด

- แผลผ่าตัดจะถูกปิดไว้ แพทย์จะแนะนำถึงการดูแลแผล และจะนัดตัดไหมในวันที่ 7 - 10 หลังผ่าตัด

- การเดินหลังผ่าตัด ส่วนใหญ่จะต้องใช้ไม้ค้ำยันในการช่วยเดินในช่วงแรกหลังผ่าตัด

 

ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด

การส่องกล้อง ก็เช่นเดียวกับการผ่าตัดทุกชนิด การผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่าก็มีอัตราเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัด ได้ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากๆ และมักเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ไม่รุนแรง

 

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

- การติดเชื้อ (พบน้อยมาก)

- ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน อาจเกิดในผู้สูงวัยที่ไม่ขยับตัว ไม่เคลื่อนไหวหลังผ่าตัดใหม่ๆ

- ภาวะเลือดออกในข้อเข่า

- ข้อติด อาจเกิดได้ในผู้ป่วยที่ไม่ขยับในระยะเวลาที่แพทย์อนุญาตให้ทำ

 

เมื่อไหร่ควรรีบกลับมาพบแพทย์

- ไข้ หนาวสั่น

- อาการ บวม แดง ร้อนของข้อเข่าที่ผ่าตัดที่ไม่ดีขึ้น

 

ผลการผ่าตัดส่องกล้องข้อเข่า

ส่วนใหญ่ผลการรักษาค่อนข้างดี แต่ต้องขึ้นอยู่กับสภาพการบาดเจ็บของข้อเข่าด้วยว่ารุนแรงมากน้อยระดับใด เช่น ในรายที่มีกระดูกอ่อนผิวข้อที่แตกและสึกกร่อนมาก แต่แพทย์จะพยายามรักษาฟื้นฟูให้เข่ากลับมาใช้งานได้ดีใกล้เคียงเดิมให้ได้ มากที่สุด โดยเฉพาะในรายที่เป็นนักกีฬาอาชีพ

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาและโฆษณาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด
คุณสามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัวและข้อกำหนดในการให้บริการ