การตรวจสมรรถภาพปอด (Pulmonary Function Tests)

 หน้าแรก
» ความรู้สุขภาพและบทความแพทย์ » การตรวจสมรรถภาพปอด (Pulmonary Function Tests) แบ่งปันไปยัง facebook

การตรวจสมรรถภาพปอด (Pulmonary Function Tests)

   เป็นการตรวจที่สำคัญและมีประโยชน์อย่างยิ่งในกระบวนการคัดกรองโรคปอดจากการทำงานตั้งแต่ในระยะเนิ่นๆ  ก่อนที่จะมีอาการ     เนื่องจากปอดเป็นอวัยวะที่มีความอดทนต่อการเปลี่ยนแปลของสภาพอากาศได้ค่อนข้างดี   อาการเหนื่อยง่าย ไอเรื้อรัง หรือหอบเหนื่อย  จึงมักปรากฏหลังจากพยาธิสภาพในปอดเกิดขึ้นมากแล้ว    การตรวจสมรรถภาพปอดจึงถือว่าเป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้นที่ได้มาตรฐานในงานอาชีวอนามัย 

 

ใครบ้างที่ควรได้รับการตรวจสมรรถภาพปอดเป็นประจำทุกปี เพื่อเฝ้าระวังโรคจากการทำงาน

  - อาชีพที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการสัมผัสไอระเหย ฝุ่น ควัน เช่น ทำงานภายในโรงงานที่มีฝุ่น-ควัน-เมืองแร่-ปูน เป็นต้น

  - พนักงานที่สัมผัสสารเคมีชนิดต่างๆในระหว่างการทำงาน

  - พนักงานที่ทำงานต่างๆที่ต้องอาศัยระบบการทำงานของระบบหายใจที่มีประสิทธิภาพ กลุ่มที่ต้องเข้าทำงานในพื้นที่อับอากาศ การทำงานบนที่สูง

  - พนักงานที่สูบบุหรี่เป็นประจำ  หรือมีโรคประจำตัว

 

ข้อห้ามในการทำสไปโรเมตรีย์ในงานอาชีวอนามัย

(1) ไอเป็นเลือด

(2) มีภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอดที่ยังไม่ได้รับการรักษา

(3) ระบบหลอดเลือดและหัวใจไม่คงที่ เช่น ความดันโลหิตสูงที่ยังไม่ได้รับการรักษาหรือควบคุมไม่ได้ , มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Myocardial infarction) ในระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือนที่ผ่านมา, มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดปอด Pulmonary embolism

(4) เส้นเลือดแดงโป่ง (Aneurysm) ในทรวงอก ท้องหรือสมอง

(5) เพิ่งได้รับการผ่าตัดตา เช่น ผ่าตัดลอกต้อกระจก

(6) เพิ่งได้รับการผ่าตัดช่องอกหรือช่องท้อง

(7) ทราบว่าติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเช่นวัณโรคปอดระยะติดต่อ

(8) สตรีมีครรภ์ ยกเว้นในบางรายที่จําเป็นต้องทําการตรวจ

(9) ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยที่อาจมีผลต่อการทดสอบสไปโรเมตรีย์ เช่น คลื่นไส้ หรืออาเจียนมาก

 

ซึ่งผู้ที่มีภาวะที่เป็นข้อห้ามในการตรวจเหล่านี้ ควรงดหรือเลื่อนการตรวจออกไปก่อนจนกว่าจะหายจากโรคหรือภาวะอันเป็นข้อห้ามนั้นๆ

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ในการตรวจสไปโรเมตรีย์

   - การเป็นลม หรือ Syncope ซึ่งอาจเกิดจากการเพิ่มความดันในช่องทรวงอก ในขณะออกแรงเป่าลมออกจากปอดเต็มที่ ทำให้ลดการไหลเวียนของเลือดกลับสู่หัวใจ และทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอชั่วขณะ

   - อาการเวียนศีรษะ  อาการปวดศีรษะ

   - ภาวะหลอดลมตีบ และไอต่อเนื่องหลังการตรวจ    อาจเกิดขึ้นได้ขณะทำสไปโรเมตรีย์ โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัวหอบหืด หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

 

 

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจสมรรถภาพปอด

    การตรวจสมรรถภาพปอดทำได้ง่าย ไม่เจ็บตัว ใช้เวลาไม่มาก ไม่ต้องเตรียมตัวมาก เพียงแต่ใส่เสื้อผ้าที่หลวมไม่คับ เพื่อให้ออกแรงหายใจได้เต็มที่ และไม่ควรทานอาหารหนักก่อนมาทำ ผู้ที่ใช้ยาขยายหลอดลมควรหยุดยารวมทั้งหยุดสูบบุหรี่ก่อน 24 ชั่วโมง ถ้าตรวจแบบทั่วๆ ไปจะใช้เวลาประมาณ  15 - 30 นาที

 

ข้อควรคำนึงถึงก่อนส่งพนักงานเข้ารับการตรวจสมรรถภาพปอดสำหรับสถานประกอบการ    

  1.เครื่องมือในการตรวจ ต้องได้รับการตรวจสอบคุณภาพเป็นระยะตามที่กำหนดไว้ และมีเอกสารรับรองการสอบเทียบเครื่องมือมาแสดงในวันที่ตรวจ

  2.คุณวุฒิของผู้ที่ทำการตรวจ   ควรมีการตรวจสอบคุณวุฒิของผู้ที่อยู่ประจำเครื่องที่หน้างานทุกครั้ง เนื่องจากการตรวจสมรรถภาพปอดที่จะให้ผลอย่างถูกต้อง  ต้องอาศัยเทคนิคการตรวจจากบุคคลากรที่ได้รับการอบรมมาเป็นอย่างดี

  3.เทคนิคในการตรวจ   ต้องมีการให้คำแนะนำพนักงานก่อนการตรวจอย่างครบถ้วนและถูกต้องทุกเคส  เพื่อให้เป่าให้ดีที่สุดในทุกเคส และต้องให้เป่าอย่างน้อย  3 ครั้งเพื่อให้สามารถเลือกผลที่ดีที่สุดมาแปลผล

 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาและโฆษณาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด
คุณสามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัวและข้อกำหนดในการให้บริการ