โรคกรดไหลย้อน

 หน้าแรก
» ความรู้สุขภาพและบทความแพทย์ » โรคกรดไหลย้อน แบ่งปันไปยัง facebook

โรคกรดไหลย้อน
1.โรคกรดไหลย้อนคืออะไร มีอาการอย่างไรบ้าง

   โรคกรดไหลย้อน คือ โรคที่เกิดจากการ ที่มีการไหลย้อน ของสารคัดหลั่งจากในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กขึ้นมาที่หลอดอาหาร โดย สารนั้น อาจเป็นกรด เป็นด่าง หรือเป็นแก๊ส ก็ได้ ซึ่งอาจทำให้มี หรือไม่มีการอักเสบของหลอดอาหาร ก็ได้ แต่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการต่างๆเกิดขึ้น ซึ่ง แบ่งเป็น อาการทางหลอดอาหาร เช่น  แสบร้อนยอดอก หรือ heartburn  อาการเรอเปรี้ยว  และอาการนอกหลอดอาหาร เช่น เจ็บคอเรื้อรัง เสียงแหบ หอบหืด  อาการเจ็บแน่นหน้าอกที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจ หรืออาการด้านช่องปาก เช่น ฟันผุ หรือ มีกลิ่นปาก

2. ถ้าปล่อยให้มีอาการของโรคไปนานๆ โดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จะส่งผลอย่างไรบ้าง
    เนื่องจากปัจจุบัน การเข้าถึงยาง่ายขึ้น ยาบางชนิดสามารถซื้อได้จากร้านขายยา หรือร้านสะดวกซื้อ ซึ่งช่วยให้อาการทุเลาลงได้ แต่อาจไม่ได้ช่วยให้การอักเสบของหลอดอาหารลดลง นานวันเข้า อาจก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง จน เป็นแผล หรือมีการตีบแคบของหลอดอาหารส่วนนั้น หรือเกิดโรคของหลอดอาหารบางชนิดได้ ดังนั้น จึงแนะนำให้พบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษา หรือในราย มีอาการเตือน เช่น กลืนลำบาก กลืนเจ็บ อาเจียนบ่อย อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ มีภาวะซีด น้ำหนักลด หรือมีไข้ร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยแยกโรคอื่นเพิ่มเติม

3. การวินิจฉัยโรคนี้ทำได้อย่างไร
    มีวิธีการวินิจฉัยหลายอย่าง  อาจเริ่มด้วยการประเมินจากอาการ ร่วมกับการตอบสนองต่อการใช้ยา ซึ่งข้อด้อยคือ อาจไม่เห็นรอยโรคบางอย่างของหลอดอาหาร  ถัดมาคือการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน เพื่อดูการอักเสบและประเมินความรุนแรงของหลอดอาหาร เพื่อใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการเตือนที่ได้กล่าวมา เพื่อช่วยวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆ ที่อาจไม่ใช่กรดไหลย้อน หรือเพื่อใช้ในรายที่เคยใช้ยามาแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น  นอกจากนี้ ก็ยังมีวิธีอื่นๆ เช่น การวัดระดับ pH ในหลอดอาหาร ซึ่งพิจารณาในรายที่ผลส่องกล้องปกติ หรือยังมีอาการของโรคอยู่ในขณะที่ใช้ยา เป็นต้น

4. แนวทางการรักษาโรคคืออะไรบ้าง
    ลำดับแรก คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  ได้แก่ การลดน้ำหนักในผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วน การนอนยกศีรษะสูง การนอนตะแคงซ้าย ซึ่งมีข้อมูลที่สนับสนุน การลดการรับประทานอาหารบางอย่าง เช่น อาหารมัน แอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้กระตุ้นอาการ ในบางรายเช่น กาแฟ ช็อคโกแลต หรือ อาหารรสเปรี้ยว  หลีกเลี่ยงอาหาร 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
    ลำดับถัดมา คือ การใช้ยาในการรักษา ซึ่งจะประกอบไปด้วยยาลดการหลั่งกรดเป็นหลัก อื่นๆ เช่น การผ่าตัด อาจพิจารณาในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา หรือต้องใช้ยาในระยะยาว และขึ้นกับความต้องการของผู้ป่วย ซึ่งพิจารณาเป็นรายๆไป

 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้
เราใช้คุกกี้เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ แสดงเนื้อหาและโฆษณาให้ตรงกับความสนใจ รวมถึงเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเว็บไซต์และทำความเข้าใจว่าผู้ใช้งานมาจากที่ใด
คุณสามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัวและข้อกำหนดในการให้บริการ